วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554

งานสารทเดือนสิบ เมืองคอน ยิ่งที่สุดในประเทศไทย

          งานเดือน สิบเป็นงานเทศกาลประจำปีที่สำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุดของจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นงานรื่นเริงที่จัดขึ้นในโอกาสประเพณีสารทเดือนสิบ ซึ่งถือกันว่าเป็นประเพณีทำบุญที่สำคัญ เชื่อกันว่าเป็นการทำบุญให้แก่ปูย่าตายายและญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว

         โดยเชื่อกันว่าพญายมจะปล่อยวิญญาณญาติ ๆ มาพบลูกหลานของตนในเมืองมนุษย์ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 และให้กลับไปเมืองนรกตามเดิมในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ขณะเดียวกันเป็นการแสดงความชื่นชมกับผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งให้ผลในปลายเดือนสิบด้วย จึงนับว่าเป็นโอกาสเหมาะทั้งด้านเชื่อและปัจจัยในการทำบุญก่อให้เกิดประเพณี ทำบุญสารทเดือนสิบ

            ต่อมามีการจัดงานรื่นเริงขึ้นด้วย เพื่อเป็นการฉลองและสนุกสนานกันจึงเกิด "งานเดือนสิบ"จนถึงปัจจุบันนี้ ความสำคัญและความยิ่งใหญ่ของการจัดงานนี้ จึงเป็นที่รู้จักกันดีทั่วภาคใต้และทั่วประเทศ
 
                

           ความเป็นมา การ จัดงานเดือนสิบ สืบเนื่องมาจากการจัดงานในวันวิสาขบูชาในปี พ.ศ.2465 ที่วัดพระมหาธาตุฯโดยพลโทสมเด็จพระเจ้าวรวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ (เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นกรมขุน) อุปราชมณฑลปักษ์ใต้ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยารัษฎานุประดิษฐ์ (สิน เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชจัดการซ่อมแซมพระวิหารในวัดพระธาตุฯ เช่น ทำช่อฟ้า ใบระกา เพดานที่พระวิหารหลวง และประดับประดาด้วยหนกลวดลายไทยมีดวงดาวแฉกเป็นรัศมีมีวิหารพระทรงม้า และวิหารเขียน เป็นต้น

            แต่งบประมาณในการก่อสร้างไม่เพียงพอ พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ (สิน เทพหัสดิน ณ อยุธยา) จึงคิดหาเงินด้วยการจัดงานขึ้นในวันวิสาขบูชา พ.ศ.2465 ในวัดพระมหาธาตุฯ ทางทิศใต้ของพระวิหารหลวง (ซึ่งขณะนั้นไม่มีภิกษุสามเณรหรือแม่ชีเข้าอยู่อาศัย เรียกว่า “สวนดอกไม้”) มีการออกร้านจำหน่ายสินค้าและเล่นการพนันบางประเภทในงานนั้นโดยจัดงานอยู่ 3 วัน 3 คืน

           ปราก ฎว่าได้เงินค่าประมูลร้านและการพนันนับหมื่นบาทสามารถนำไปซ่อมแซมพระวิหารใน ครั้งนั้นได้เพียงพอ ต่อมาในปี พ.ศ.2466 พระภัทรนาวิกธรรมจำรูญ (เอื้อน ภัทรนาวิก) เวลานั้นยังเป็นหลวงรามประชา ผู้พิพากษหัวหน้าศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชและเป็นนายยกศรีธรรมราชสโมสร (ปัจจุบันคือสโมสรข้าราชการ) เห็นว่านครศรีธรรมราชสโมสรซึ่งสร้างมาหลายปีแล้วชำรุด สมควรที่จะได้สร้างขึ้นใหม่ให้เป็นตึกถาวรสง่างามแต่ก็ขัดข้องเรื่องเงินที่ จะใช้ในการก่อสร้างจึงได้ปรึกษาหารือกับพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ (สิน เทพหัสดิน ณ อยุธยา) จึงได้ตกลงกันให้จักงานขึ้นอีก เพราะเห็นว่าการจัดงานวันวิสาขบูชาในปีก่อน (พ.ศ.2465) มีรายได้สูงแต่ในปี พ.ศ.2466 นั้นให้กำหนดเอางานทำบุญเดือนสิบมาเป็นช่วงที่จัดงาน “งานเดือนสิบ” ณ สนามหน้าเมืองจังหวัดนครศรีธรรมราช

           ใน ปี พ.ศ.2482 คณะกรมการจังหวัดได้มอบให้เทศบาลเมืองนครศรีธรรมราชเป็นผู้จัดงานเดือนสิบ เพื่อนำรายได้บำรุงเทศบาลเมือง ส่วนในปี พ.ศ.2484-2488 งดจัดงานเดือนสิบเพราะอยู่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2504 คณะกรรมการจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นผู้จัดงานเดือนสิบ หลังจากนั้นจังหวัดก็ได้จัดงานเดือนสิบติดต่อกันเรื่อยมา โดยร่วมมือกับเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราช และหน่วยงานต่าง ๆ ภายในจังหวัด
 
        

           ความสำคัญของงานเดือนสิบ
       1. เป็นการรักษาฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีการทำบุญวันสารท ในขณะเดียวกันเป็นการสืบทอดประเพณีการจัดงานรื่นเริงประจำปีของชาวจังหวัด นครศรีธรรมราชให้ยั่งยืนมาถึงปัจจุบันนี้
       2. ชาวเมืองนครศรีธรรมราชและผู้ที่อยู่ใกล้ไกลได้รับความรื่นเริงจากการเที่ยวงานประเพณี
       3. ทำให้ประชาชนได้รับความรู้ทั้งทางด้านศิลปวัฒนธรรมการประกอบอาชีพและอื่น ๆ เท่าที่มีกิจกรรมในงานเดือนสิบในแต่ละปี
       4. ทำให้ประชาชนได้รับความรู้และเข้าใจในผลงานตลอดจนนโยบายที่สำคัญของทาง ราชการ อันเป็นการสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐกับประชาชน
       5. จังหวัดมีรายได้นำไปบำรุงสาธารณประโยชน์และช่วยในกิจการกุศล
       6. เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ทำบุญและนมัสการองค์พระบรมธาตุโดยทั่วถึง

           งานเดือนสิบในปัจจุบัน ยังคงจัด ณ ทุ่งท่าลาด โดยมีกิจกรรมดังนี้
       1. กิจกรรมเกี่ยวกับการบุญการกุศลและฟื้นฟูประเพณีทำบุญวันสารท เช่น จัดให้มีการทำบุญตักบาตรในวันเปิดงานการทำบุญวันสารท การประกวดหฺมรับและการแห่หฺมรับ ไปในเขตเทศบาล ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเอาใจใส่อย่างจริงจังในประเพณีเก่าแก่ จากทั้งทางราชการและประชาชน นอกจากนั้นแล้วในโอกาสงานเดือนสิบทางวัดมหาธาตุฯ ก็ได้เชิญชวนและเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าชมและนมัสการองค์พระบรมธาตุด้วย
       2. บริษัทห้างร้านต่าง ๆ จากทุกภาค หน่วยงานราชการ ออกร้านแสดงและจำหน่ายสินค้า
       3. กิจกรรมเกี่ยวกับการฟื้นฟูและให้ความรู้และให้ความรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรม แก่ประชาชน เพราะงานเดือนสิบเป็นงานที่มีจุดกำเนิดและมีลักษณะเกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรม โดยตรง
       4. มีการประกวดมีการประกวดหลายประเภท เช่น การประกวดศิลปหัตถกรรมของนักเรียนและประชาชน (วาด ปั้น แกะสลัก ฯลฯ) การประกวดมารยาทนักเรียนอ่านทำนองเสนาะ โต้กลอนและโต้วาที่ เป็นต้น
       5. เผยแพร่ผลงานและนโยบายของรัฐบาล หน่วยงานราชการจากกรม กอง กระทรวงต่าง ๆ ออกร้านเพื่อแสดงผลงานและนโยบายของหน่วยราชการนั้น ๆ
       6. กิจกรรมเกี่ยวกับการแข่งขันกีฬา กีฬาที่จัดให้มีการแข่งขันในบริเวณงานเดือนสิบมีทั้งระดับนักเรียนและ ประชาชน เช่น บาสเกตบอล ตะกร้อ แบดมินตัน วอลเลย์บอล ชกมวย เป็นต้น
       7. กิจกรรมเกี่ยวกับมหรสพและการบันเทิง ทั้งที่เป็นของท้องถิ่นภาคใต้โดยตรง เช่น หนังตะลุง โนรา และมหรสพอื่น ๆ ทั่วไป เช่น ลิเก ลำตัด ภาพยนตร์
 
                  

           พีธีกรรม  เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือนสิบ ซึ่งถือว่าเป็นวันที่พญายมปล่อยตัวผู้ล่วงลับไปแล้วที่ (เรียกว่า "เปรต") มาจากนรก สำหรับวันนี้บางคนก็ประกอบพิธี บางคนจะประกอบพิธีในวันแรม 13 ค่ำ 14 ค่ำ และ 15 ค่ำ โดยการนำอาหารไปทำบุญที่วัดเรียกว่า "
หฺมฺรับเล็ก" เป็นการต้อนรับบรรพบุรุษ และญาติมิตรที่ขึ้นมาจากนรกเท่านั้น

            การเตรียมการสำหรับประเพณีสารทเดือนสิบ เริ่มขึ้นในวันแรม 13 ค่ำ เดือน 10 วันนี้ เรียกว่า "วันจ่าย" เป็นวันที่เตรียมหฺมรับ และจัดหฺมรับ คือการเตรียมสิ่งของต่าง ๆ ที่ใช้ในการจัดหฺมรับ เมื่อได้ของตามที่ต้องการแล้วก็เตรียมจัดหฺมรับรับการจัดหฺมรับ แต่เดิมใช้กระบุงเตี้ย ๆ ขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ได้ แต่ภายหลังใช้ภาชนะได้หลายชนิด เช่น กระจาด ถาด กะละมัง ถัง หรือ กระเชอ สำหรับสิ่ง

           การจัดหฺมรับ  ชั้นแรกใส่ข้าวสารรองกระบุงแล้วใส่หอม กระเทียม พริก เกลือ กะปิ น้ำตาล และเครื่องปรุงอาหารคาว หวาน ที่เก็บไว้ได้นาน ๆ เช่น มะพร้าว ฟัก มัน กล้วย (ที่ยังไม่สุก) อ้อย ข้าวโพด ข่า ตะไคร้ ขมิ้น และพืชผักอื่น ๆ นอกจากนั้นก็ใส่ของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันก๊าดไต้ ไม้ขีดไฟ หม้อ กะทะ ถ้วยชาม เข็ม ด้าย เครื่องเชี่ยนหมาก ได้แก่ หมาก พลู ปูน กานพลู การบูน พิมเสน สีเสียด ยาเส้น บุหรี่ ยาสามัญประจำบ้าน ธูปเทียน แล้วใส่สิ่งอันเป็นหัวใจอันสำคัญของหม.รับคือ ขนม 5 อย่างมี ดังนี้
 

ขนมลา เป็นสัญลักษณ์แทนแพรพรรณเครื่องนุ่งห่ม
 
ขนมกง (ขนมไข่ปลา) เป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องประดับ
 

ขนมบ้า เป็นสัญลักษณ์แทนสะบ้า สำหรับบุรพชนจะได้ใช้เล่นสะบ้า ในวันสงกรานต์
 

 ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์แทนแพสำหรับบุรพชน ใช้ลอ่งข้ามห้วงมหรรณพ
 
ขนมดีซำ เป็นสัญลักษณ์แทนเงินเบี้ย สำหรับใช้สอย

           การประกอบพิธี
       1. การยกหฺมฺรับ การนำหฺมรับที่จัดเตรียมไว้ในวันแรม 13 ค่ำ ไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลที่วัด เรียกว่า "วันยกหฺมฺรับ" การยกหฺมรับไปวัดจะจัดเป็นขบวนแห่ อาจเป็นขบวนเล็กหรือใหญ่ก็แล้วแต่ ขนาดของหฺมรับ และจำนวนคนที่ร่วมกันจัดหฺมรับ คือ อาจจะมี 3 - 4 คน หรือ 10 - 20 คน หรือ 100 คน ถ้าเป็นหฺมรับใหญ่ ก็จะมีขบวนแห่ใหญ่โต ผู้ร่วมขบวนก็จะแต่งตัวสวยงาม หรืออาจแต่งเป็น "เปรต" แล้วแต่ความคิดของผู้ร่วมขบวนแห่
       2. การตั้งเปรต เมื่อยกหม.รับและถวายภัตตาหารพระภิกษุสงฆ์แล้ว ก็จะมีการ "ตั้งเปรต"โดย การนำเอาขนมส่วนหนึ่งไปวางไว้ในที่ต่าง ๆ ตรงทางเข้าวัด ริมกำแพงวัด หรือตามโคนต้นไม้เพื่อแผ่ส่วนกุศลแก่ผู้ล่วงลับไปที่ไม่มีญาติ หรือญาติไม่ได้มาร่วมทำบุญด้วย ส่วนการตั้งเปรตในระยะหลังได้มีการสร้างร้านสูงพอสมควรเรียกว่า "หลาเปรต" หรือ "ศาลเปรต" แล้วนำขนมไปวางไว้บนร้านนั้น นำสายสิญจน์ที่พระสงฆ์จับเพื่อสวดบังสุกุลมาผูกไว้กับหลาเปรต เพื่อแผ่ส่วนบุญกุศลไปยังผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ต่อจากนั้นเป็นช่วงเวลาที่เรียกว่า "ชิงเปรต" คนเฒ่าแก่หนุ่มสาวและเด็ก ๆ ก็จะกรูกันเข้าไปแย่งขนมที่ตั้งเปรต เชื่อที่ว่าของที่เหลือจากการเซ่นไหว้ ใครได้ไปกินก็จะได้กุศลแรง เป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว
       3.การฉลองหม.รับและการบังสุกุล กระทำกันในวันแรม 15 ค่ำ ซึ่งเป็นวันสารท มีการทำบุญเพื่อเป็นการฉลองหม.รับ เรียกว่า "วันฉลองหฺมฺรับ" นอกจากนี้มีการทำบุญเลี้ยงพระและการบังสุกุล เพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษและญาติพี่น้องกลับไปเมืองนรก หากมิได้จัดหฺมรับ หรือทำบุญ อุทิศส่วนกุศลที่วัดในวันนี้ บรรพบุรุษและญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วจะอดอยาก ลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่ก็จะเป็นคนอกตัญญู
 
           

           วิวัฒนาการ  ปัจจุบันประเพณีสารทเดือนสิบของเมืองนครศรีธรรมราชได้เปลี่ยนแปลงไปทั้ง พิธีการและรูปแบบคือ เนื่องจากในวันแรม 13 ค่ำ เดือน 10 ที่เรียกว่า "วันจ่าย" ชาวนครจะชวนกันไปชุมนุมซื้อของตามที่นัดหมาย หรือตามตลาดจ่ายต่าง ๆ กันมาก ดังนั้นเมื่อประมาณ 50 ปีที่ผ่านมาได้จัดงานรื่นเริงสมทบกับประเพณีสารทเดือนสิบด้วยด้วยชื่อว่า "สารทเดือนสิบ" จัดขึ้นที่สนามหน้าเมืองเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2466 และจัดสืบมาถึงปัจจุบัน อนึ่ง ในวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ ซึ่งเป็นวันยกหฺมรับนั้น มีการจัดขบวนแห่หฺมรับกันอย่างสนุกสนาน เพื่อนำหฺมรับไปประกวดที่ศาลาประดู่หก และหฺมรับก็จะจัดแต่งอย่างสวยงามเพื่อประกวดแข่งขันกันด้วย ส่วนตามชนบทก็ยังคงปฏิบัติตามแบบเดิม
 
                

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น